日本別院の歴史 ประวัติวัดพระธรรมกายญี่ปุ่น
การสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นกับสังคมโลกใบนี้นั้น อาศัยลำพังเพียงแค่การพัฒนาด้านวัตถุอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ การพัฒนาด้านจิตใจของมนุษย์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะจิตใจที่ดีจะทำให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้ให้เกิดขึ้น หากประเทศใดมีประชาชนที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เขาก็จะคิดอยู่เสมอว่าควรทำอะไรเพื่อสังคม, เราจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง เป็นต้น พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี(หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาจิตใจสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิธรรมกายขึ้นมาเพื่อขยายความรู้ด้านการพัฒนาจิตใจสู่ชาวโลก และเพื่อให้บังเกิดสันติภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นกับสังคมและโลกใบนี้ในช่วงระยะเวลา 40 กว่าปีในการสร้างบารมีของท่าน ท่านก็ได้ขยายกิจกรรมสร้างสันติสุขแก่ชาวโลกสืบมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2533 พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ได้เดินทางมาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ในระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อศึกษาวิจัยด้านพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิม โดยได้พำนักที่หอพักนักศึกษานานาชาติ “โซชิกะยะ” เขตเซตะกะยะ กรุงโตเกียว เป็นพระภิกษุไทยเพียงรูปเดียวในประเทศญี่ปุ่นในขณะนั้น ระหว่างการศึกษา มีชาวไทยในประเทศญี่ปุ่นได้มาทำบุญ ถวายภัตตาหาร สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนเป็นประจำทุกเดือน
ในปี พ.ศ. 2538 เมื่อสำเร็จการศึกษาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต และเข้าศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิตแล้ว พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกับสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรม ทุกคนเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่าควรจะได้ก่อตั้งวัดไทยขึ้นในประเทศญี่ปุ่น จึงได้ช่วยกันรวบรวมทุนทรัพย์และหาสถานที่ที่เหมาะสม
ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 จึงได้เปิดวัดไทยในญี่ปุ่นขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเช่าอาคารเล็กๆ 2 ชั้นที่ย่านอาคาบาเนะ กรุงโตเกียวและได้นิมนต์พระภิกษุเดินทางมาอยู่จำพรรษาเพิ่มอีก 3 รูป มีการเทศน์สอนธรรมะทุกวันอาทิตย์ แก่ชาวไทยและชาวญี่ปุ่น มีผู้มาปฏิบัติธรรมจำนวนมาก จนกระทั่งสถานที่เริ่มคับแคบลง ทางคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติธรรมจึงมีมติว่าจะต้องหาสถานที่เช่าใหม่ที่กว้างกว่านี้ในการทำงานพระพุทธศาสนา
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 จึงได้ย้ายไปเช่าสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งแรกประมาณ 700 เมตร เป็นอาคารชื่อว่า Kaneko Building ซึ่งมีขนาดกว้างขวางและใหญ่กว่าเดิมสามารถรองรับสาธุชนได้กว่า 100 ท่าน และได้ใช้สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งที่ 2 นี้จัดงานบุญและปฏิบัติธรรมมาอย่างตลอดต่อเนื่อง มีการเทศน์สอนและปฏิบัติธรรมทุกวันอาทิตย์ ทำให้มีสาธุชนเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนแน่นเต็มห้องปฏิบัติธรรม และการจัดงานบุญใหญ่ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่มีสาธุชนมาร่วมงานเป็นจำนวนนับพันคน ก็จะเช่าหอประชุมของทางเทศบาลในการจัดงาน จึงมีความคิดกันว่าจะต้องหาสถานที่ถาวรในการสร้างวัดในประเทศญี่ปุ่นขึ้นมา
จากความร่วมแรงร่วมใจจากสาธุชนทุก ๆ ท่าน ได้ช่วยกันสนับสนุนจนในที่สุดในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 ได้จัดซื้ออาคารพาณิชย์ 6 ชั้น เป็นอาคารคอนกรีต มีพื้นที่อาคารรวมประมาณ 1,200 ตารางเมตร อยู่ที่เขตอะระคะวะ กรุงโตเกียว และได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารให้เหมาะสมสำหรับใช้เป็นที่สถานที่ปฏิบัติธรรม และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2543 โดยได้รับเกียรติจากอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายอุตสาหกรรมประจำประเทศญี่ปุ่น คุณนงนุช อิงคะวะระ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และได้รับเกียรติจากประธานชุมชน เขตอะระคะวะ มาเป็นตัวแทนของชาวญี่ปุ่นในการกล่าวคำแสดงความยินดีและเป็นประธานเปิดงานด้วย โดยศูนย์ปฏิบัติแห่งนี้ มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “国際法身瞑想センター(KOKUSAIHOSHINMEISOU CENTER)” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “DHAMMAKAYA MEDITATION CENTER OF JAPAN” แต่จะเป็นที่รู้จักของชาวไทยในชื่อว่า “ศูนย์ปฏิบัติธรรมโตเกียว”
ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2545 ศูนย์ปฏิบัติธรรมโตเกียวได้รับอนุมัติให้เป็นนิติบุคคลทางศาสนาจากผู้ว่าราชการจังหวัดโตเกียว ถือเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองเป็นองค์กรนิติบุคคลทางพระพุทธศาสนาจากทางราชการ โดยใช้ชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “宗教法人タイ国タンマガーイ寺院(SHUKYOHOJIN THAIKOKUDHAMMAKAIJIIN)” วัดพระธรรมกายโตเกียว
และได้ทำกิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งทั้งแก่สาธุชนชาวไทยในประเทศญี่ปุ่น มีผู้มาบำเพ็ญบุญทุกวันตลอดปี และมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไทยแก่ชาวญี่ปุ่น อาทิ จัดคอร์สสอนสมาธิภาษาญี่ปุ่น จัดอุปสมบทระยะสั้นแก่ชาวญี่ปุ่นที่สนใจ จัดบรรพชาสามเณรแก่เด็กไทยที่เกิดในญี่ปุ่น เป็นต้น